ยินดีต้อนรับสู่...เวปไซต์ "สวนสรภพ" โทร. 08-7322-9446, Line id = "bbview01", bbview01@hotmail.com                                                                                                                                                                                                                                             

 การขยายพันธุ์
        ไม้ไผ่สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ส่วนวิธีที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับชนิด พันธุ์ และรูปแบบของการเจริญเติบโต สำหรับวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมทำกันโดยทั่วไปนั้นมีอยู่ 5 วิธี คือ

- การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
     ไผ่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีการออกดอกราวๆ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเมล็ดเริ่มแก่เต็มที่จนร่วงหล่นลงสู่พื้นดินราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปกติแล้วไม่นิยมเก็บเมล็ดไผ่ที่แก่ติดกับกิ่ง เพราะส่วนใหญ่เมล็ดจะไม่แก่เต็มที่ เมื่อนำไปเพาะแล้วอาจทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกน้อยหรือเพาะไม่งอกได้ เมื่อเก็บเมล็ดได้แล้วควรนำไปผึ่งแดดไว้ประมาณ 2 - 3 วัน เพื่อให้เมล็ดที่ติดอยู่กับก้านหลุดร่วงออกและเพื่อลดความชื้นของเมล็ด จากนั้นจึงทำความสะอาดเมล็ดโดยใช้กระด้งฝัดร่อนเอาเปลือกออก เมล็ดลีบออกเสียให้หมด คงเหลือแต่เฉพาะเมล็ดดีเท่านั้น เมล็ดไผ่ที่ได้หากนำไปเพาะในช่วงนี้จะให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง แต่ถ้าหากต้องการเก็บรักษาควรนำไปบรรจุลงในถุงพลาสติกเสียก่อน แล้วเก็บไว้ในที่อุณหภูมิ 2-7 องศาเซลเซียส จะทำให้สามารถเก็บเมล็ดไว้ได้นาน 2-3 ปี โดยที่เมล็ดไม่เสีย ส่วนการเก็บเมล็ดไว้ในที่อุณหภูมิห้องปกติจะทำให้เมล็ดสูญเสียความมีชีวิตภายในเวลา 6-7 เดือน

- การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนของตอหรือเหง้า (การแยกกอ)
     วิธีนี้ใช้ได้ผลกับไผ่ทุกชนิด โดยเฉพาะไม้ไผ่ที่มีโคนลำค่อนข้างหนา เช่น ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง ไผ่หางช้าง อายุของเหง้าที่สามารถผลิตหน่อใหม่ได้ดีคือ เหง้าที่มีอายุ  1 - 2 ปี เนื่องจากตาของเหง้าที่มีอายุมากกว่านี้มักอ่อนแอไม่แข็งแรง การตัดควรตัดให้ตอสูงประมาณ 50 - 80 เซนติเมตร ทำการขุดเหง้าออกจากกอแม่เดิมโดยระวังอย่าให้ตาที่เหง้าเสียหายได้ เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อใหม่ต่อไป วิธีนี้ให้หน่อที่แข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงหรือลำ ทั้งยังเป็นวิธีการที่ทำให้ได้ต้นตรงตามสายพันธุ์เดิมมากที่สุด แต่ก็ยังเป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ลำบากในการขนย้าย เสียเวลาและแรงงานมาก และไม่สามารถขยายพันธุ์เป็นปริมาณมากๆ ในระยะสั้น ได้ เพราะเมื่อทำการขุดแยกกอมากเกินไป อาจทำให้กอเดิมได้รับอันตราย

- การขยายพันธุ์โดยการใช้ปล้อง กิ่งตัด หรือใช้ลำ
        การขยายพันธุ์วิธีนี้นิยมใช้กับไม้ไผ่ชนิดที่ไม่ค่อยออกเมล็ด และเป็นไม้ไผ่ที่มีลำค่อนข้างใหญ่ เช่น ไผ่สีสุก ไผ่เหลือง ไผ่ป่า ไผ่ซางดำ เป็นต้น โดยทำการคัดเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1-2 ปี เมื่อได้ลำที่ต้องการแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนๆ โดยให้แต่ละท่อนมี 1-2 ข้อ ดังวิธีต่อไปนี้        
        ท่อนที่ใช้ 1 ข้อ จะตัดตรงกลางไม้ไผ่ให้ข้ออยู่ตรงกลาง ตัดให้ห่างจากข้อประมาณ 1 คืบ แล้วนำไปชำในแปลงเพาะชำ ให้ตาหงายขึ้น โดยระวังอย่าให้ตาเป็นอันตราย การชำควรให้ข้ออยู่ระดับดิน แล้วใส่น้ำลงในปล้องที่เหลือเหนือดินหรือวัสดุเพาะชำให้เต็ม
       ท่อนที่ใช้ 2 ข้อ เมื่อทำการตัดให้มี 2 ข้อ แล้วเจาะรูตรงกึ่งกลางปล้องเพื่อหล่อน้ำ ทำการริดกิ่งที่ข้อโดยตัดออกให้เหลือเพียง 2 - 3 นิ้ว ระวังอย่าให้ตาที่ข้อปล้องแตกหัก นำไปวางในแปลงชำ โดยฝังลงดินหรือวัสดุเพาะชำประมาณครึ่งของลำ หรือใช้ดินกลบข้อให้มิด เหลือไว้เฉพาะที่น้ำหล่อเท่านั้น
        การเพาะชำโดยวิธีการใช้ลำ สามารถชำในแปลงเพาะ ควรทำการปรับหน้าดินในกรณีที่เป็นที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง แต่ถ้าพื้นที่ลุ่มควรทำการยกร่องเพื่อมีการระบายน้ำดี หลังจากนั้นจึงทำการย่อยดิน ตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ทำหลังคาทางมะพร้าวหรือบังแดด เมื่อชำเสร็จแล้วควรรดน้ำให้ชุ่มทันที หมั่นดูแลรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวัน หลังจากนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะพบหน่อและรากแตกออกมา ประมาณ 1-2 เดือน จึงทำการเลื่อยลำเก่าออก แล้วจึงย้ายถุงพลาสติกขนาดประมาณ 5 x 8 นิ้ว เพื่อให้สะดวกในการขนย้ายปลูก เมื่อต้นกล้าเจริญเต็มที่จึงค่อยๆ เปิดหลังคาที่คลุมไว้ออก จนกระทั่งสามารถเจริญได้ดีในที่กลางแจ้ง หลังจากนั้นประมาณ 6-8 เดือน กล้าไม้จะแกร่งเต็มที่ จึงทำการย้ายปลูกได้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังไม่ค่อยนิยามากนัก เพราะใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีใช้กิ่งแขนง และต้องตัดลำอายุ 1 ปี ซึ่งเป็นลำแม่ที่ควรเลี้ยงเอาไว้ เพื่อให้หน่อใหม่ในปีถัดไป นอกจากนั้นยังนิยมเก็บลำไว้ขายเพื่อประโยชน์อย่างอื่นด้วย

- การขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนง
        กิ่งแขนง คือกิ่งที่แตกจากตาบริเวณข้อต่อของลำ การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากที่สุดเพราะสะดวกรวดเร็วและสามารถตัดชำกิ่งแขนงได้มาก ความสำเร็จในการปักชำโดยใช้กิ่งแขนงขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ไผ่ หากเป็นไม้ไผ่ที่มีรากอากาศบริเวณโคนกิ่ง เช่น ไผ่ตง จะมีความสำเร็จสูง และยังขึ้นอยู่กับการเลือกกิ่งแขนง คือ ปลายฤดูฝนช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก การเลือกกิ่งแขนงควรเลือกกิ่งที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้วถึงนิ้วครึ่ง ที่มีรากอากาศเป็นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง แล้วใบที่ยอดคลี่แล้ว กาบหุ้มตาหลุดหมด อายุของกิ่งแขนงอย่างน้อย 4-6 เดือน ถ้าค้างปียิ่งดี เมื่อเลือกกิ่งแขนงได้ตามความต้องการแล้ว ตัดปลายกิ่งออก ให้กิ่งแขนงที่จะปักชำยาวประมาณ 80 - 100 เซนติเมตร มีข้อติดอยู่ 3-4 ข้อ ควรใช้ฟางข้าวหรือกระสอบคลุมกิ่งแขนงไว้ พรมน้ำให้ชุ่มเพื่อเป็นการบ่มและกระตุ้นตารากและตายอดที่อยู่บริเวณโคนกิ่ง ซึงเมื่อบ่มตาไว้ประมาณ 2-3 วัน จะสามารถสังเกตเห็นปุ่มสีขาวบริเวณโคนกิ่งได้ ปุ่มดังกล่าวจะเจริญเป็นรากต่อไป ในบางกิ่งอาจเห็นตายอดเกิดการขยายตัวพร้อมที่จะแทงยอดด้วย การบ่มตาทำให้สามารถคัดเลือกกิ่งแขนงที่มีคุณภาพได้ ทำให้การปักชำมีประสิทธิภาพและมีการรอดตายสูง

         การชำกิ่งแขนงไม้ไผ่อาจชำในถุงพลาสติกโดยตรง หรือชำในแปลงเพาะชำแล้วจึงย้ายลงถุงภายหลัง แต่การปักชำกิ่งแขนงเพื่อการค้าในปัจจุบันนิยมชำในถุงพลาสติกโดยตรงตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนขณะย้ายชำกล้าและสะดวกในการขนย้ายไปปลูกตามที่ต่างๆ ปกตินิยมใช้ถุงขนาด 5 x 8 นิ้ว ก่อนทำการปักชำควรมีการเตรียมดินที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุเพาะชำ โดยทำการย่อยดินและผสมดินกับขี้เถ้าแปลบในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยประมาณ แล้วตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น หลังจากนำกิ่งลงถุงแล้วควรกดดินให้แน่น รดน้ำทันทีเพื่อให้กิ่งชำสดอยู่เสมอ หลังจากนั้นหมั่นดูแลรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน จนกระทั่งกิ่งแขนงที่ชำไว้แตกใบและราก ใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ก็ย้ายไปปลูกในแปลงได้ ก่อนทำการย้ายปลูกควรนำกล้าไม้ออกวางกลางแจ้งเป็นเวลา 1-2 เดือน เพื่อให้กล้าแกร่งเต็มที่ โดยปกติชาวสวนไผ่ตงมักทำการชำกิ่งแขนงในปลายฤดูฝนแล้วปลูกในต้นฤดูฝนปีถัดไป ซึ่งจะให้เวลาประมาณ 8 เดือน วิธีนี้ทำให้ได้กิ่งพันธุ์ที่แข็งแรงและเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง

- การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
        การเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ไผ่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตกล้าไผ่จำนวนมากในระยะเวลาสั้น โดยมุ่งเน้นในการขยายพันธุ์ไม้ไผ่ที่ผลิตเมล็ดจำนวนน้อยหรือไม่สามารถผลิตเมล็ดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่เศรษฐกิจ เช่น ไผ่ตง และ ไผ่เลี้ยง อย่างไรก็ดีมีผู้ศึกษาการเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ไผ่ไว้หลายชนิด โดยเลี้ยงส่วนของคัพภะ ส่วนของใบอ่อนและส่วนของกิ่งอ่อนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าไม้ไผ่เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ หลังจากที่ได้กล้าไผ่จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแล้วสามารถปฏิบัติต่อกล้าเช่นเดียวกับกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกัน

 

Copyright (c) 2007 by Thananat Ramangthong